ประถมปลาย

ประถมปลาย
ช่วงชั้น 2

“สืบค้นในวัยประถม”


ข่าวช่วงชั้นประถมปลาย

วิ่ง วิ่ง ชวนกันออกกำลังกาย

บรรยากาศยามเช้า และยามเย็น ในสนามกว้างๆ ของโรงเรียนเต็มไปด้วย พี่ๆ น้องๆ ทุกช่วงชั้นที่มาช่วยแต่งแต้มสีสัน เพิ่มความสดใสให้สนามหญ้าไม่เงียบเหงา มีเด็กๆ มาวิ่งเล่น ออกกำลังกายกันเต็มพื้นที่

รับน้องเข้าเรือน พาเพื่อนไหว้ครู ช่วงชั้น 2

พิธีรับน้องเข้าเรือน…พาเพื่อนไหว้ครู ช่วงชั้นที่ 2 เป็นไปอย่างอบอุ่น ตัวแทนของพี่ชั้น 5 และชั้น 6 ตั้งแถวคอยต้อนรับน้องชั้น 4 พร้อมมอบสัญลักษณ์แห่งการฝึกฝนตนเอง คือ “ดินสอ” เพื่อรับน้องเข้าเรือน และพาน้องมานั่งที่โถงช่วงชั้นที่ 2 เพื่อร่วมพิธีไหว้ครู

การงานเพื่อชีวิตประถม ฉันทะ 2566

สร้างประสบการณ์ผ่าน “การงานเพื่อชีวิต” กิจกรรมการเรียนรู้ของช่วงชั้น 1-2 ที่จัดเวลาตลอดช่วงบ่ายของวันพฤหัสบดีให้เด็กๆ ได้เลือกเรียนกลุ่มการงานตามความสนใจ เพื่อพัฒนาทักษะที่จำเป็น

เช้าแรกฉันทะ 2566

“ฉันทะ” ภาคเรียนแห่งศรัทธา การซึมซับ การปลูกฝังคุณสมบัติสำคัญ การเห็นคุณค่าของสิ่งที่เรียน ปีการศึกษา 2566

สวัสดีปีใหม่ไทย : สุขสันต์วันสงกรานต์ 2566

สวัสดีปีใหม่ไทย ขออาราธนาคุณพระศรีรัตนตรัย และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย จงดลบันดาลให้ทุกท่าน ประสบแต่ความสุขในสิ่งที่พึงปรารถนาทุกประการ สุขภาพใจ กาย สมบูรณ์แข็งแรง ปราศจากโรคภัย

เชิญร่วมกิจกรรม “ร้อยเรียงรูป… เล่าเรื่องราว… โรงเรียนเรา” ๒๐ ปี เพลินพัฒนา

เนื่องในโอกาสครบรอบ ๒๐ ปี โรงเรียนเพลินพัฒนา ขอเชิญชาวเพลินพัฒนา (ผู้ปกครอง นักเรียน คุณครู บุคลากรรวมทั้งศิษย์เก่า) ส่งภาพถ่ายเพื่อร่วมกัน “ร้อยเรียงรูป… เล่าเรื่องราว… โรงเรียนเรา”

โรงเรียนเพลินพัฒนา ตั้งใจออกแบบกลุ่มประสบการณ์การเรียนรู้ในลักษณะต่างๆ

เพื่อให้ผู้เรียนได้เข้าสู่กระบวนการพัฒนาอย่างเป็นองค์รวมและบรรลุเป้าหมายของหลักสูตรสถานศึกษาได้อย่างครบถ้วนและทั่วถึง

กลุ่มประสบการณ์การเรียนรู้เหล่านี้อาจจัดแบ่งในลักษณะกลุ่มหน่วยวิชาออกได้เป็น 3 กลุ่มหน่วยวิชา คือ
  • กลุ่มหน่วยวิชาพัฒนาชีวิต
  • กลุ่มหน่วยวิชาพื้นฐาน
  • กลุ่มหน่วยวิชาประยุกต์

กลุ่มประสบการณ์การเรียนรู้

กลุ่มหน่วยวิชาพัฒนาชีวิต

กลุ่มหน่วยวิชาที่เป็นรากฐานการรับรู้โลกของมนุษย์ผ่านผัสสะ ก่อเกิดเป็นอารมณ์ ความรู้สึก นึก คิด ตัวตน และอุปนิสัยส่วนลึกของผู้เรียนขึ้น โดยอาศัยการเรียนรู้ที่ใช้ร่างกาย ประสาทสัมผัส และจิตใจเป็นหลัก ประกอบด้วย หน่วยวิชากีฬา หน่วยวิชาแสนภาษา หน่วยวิชาดนตรีชีวิต หน่วยวิชาประเพณีในชีวิต หน่วยวิชาการงานเพื่อชีวิต และหน่วยวิชาคุณค่าในวิถีชีวิต

หน่วยวิชากีฬา

คือการฝึกมนุษย์ทั้งด้านร่างกายและจิตใจให้มีความสมบูรณ์ เป็นการบูรณาการทั้งการใช้ร่างกาย ประสาทสัมผัส อารมณ์ความรู้สึก นึก คิด ปฏิภาณ คุณธรรม และจริยธรรม อย่างเป็นเอกภาพ โดยมีเป้าหมายการพัฒนาที่ไม่ใช่เพียงร่างกาย แต่มุ่งใช้กีฬาพัฒนาตนเพื่อยกระดับจิตใจ โดยเน้นกีฬาที่มีลักษณะเป็นทีม ใช้ความอดทนสูง และก่อให้เกิดการเรียนรู้ความมีน้ำใจนักกีฬา รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย

เนื่องจากหน่วยวิชากีฬามีคาบเรียนในตารางเวลาเรียนเพียง ๒ คาบต่อสัปดาห์ และยังมีลักษณะเป็นการเรียนที่แยกกลุ่มสาระโดดเดี่ยวไม่ได้บูรณาการอยู่กับหน่วยวิชาอื่นซึ่งยังไม่เพียงพอในการพัฒนาชีวิตนักเรียนตามเป้าหมายของหน่วยวิชา ดังนั้นจึงมีการสร้างเทศกาลกีฬาขึ้นนอกตารางเวลาเรียน เพื่อใช้เชื่อมโยงกับการเรียนกีฬาในคาบเรียนให้มีพลังเพียงพอที่จะสร้างการพัฒนาชีวิตนักเรียนขึ้นได้ เทศกาลกีฬาใน ๑ ปีการศึกษาประกอบด้วย เทศกาลกีฬาประจำภาคเรียน และเทศกาลแดงชาด


หน่วยวิชาแสนภาษา (โครงงาน)

คือการพัฒนาความสามารถในการสร้างสรรค์ และสื่อสาร ความรู้สึก นึก คิดที่ไม่ใช่ภาษาพูดและภาษาเขียนแต่ผ่านสื่อศิลปะอันหลากหลาย ด้วยการกระตุ้น ฝึกฝน และพัฒนาระบบประสาทสัมผัสทุกชนิด แล้วเชื่อมโยงประสบการณ์จากผัสสะเหล่านั้น สู่ความหมายของความรู้สึก นึก คิด ก่อเกิดเป็นความคิดสร้างสรรค์ที่จะสื่อสารความรู้สึก นึก คิดอย่างอิสระ ภายใต้เงื่อนไขของแต่ละบริบท

นอกจากนี้หน่วยวิชาแสนภาษายังผสมผสานวิธีการทางศิลปะบำบัด สุนทรียศาสตร์ ศิลปะวิจักษ์ และการซึมซับคุณค่า เพื่อเสริมสร้างการพัฒนาจิตใจ และคุณลักษณะตามเป้าหมายของหลักสูตรสถานศึกษา

เนื่องจากหน่วยวิชาแสนภาษามีคาบเรียนในตารางเวลาเรียนเพียง 2 คาบต่อสัปดาห์ ซึ่งยังไม่เพียงพอในการพัฒนาชีวิตนักเรียนตามเป้าหมายของหน่วยวิชา ดังนั้น หน่วยวิชาแสนภาษาจึงมีการเรียนในลักษณะโครงงานแสนภาษาซึ่งนำไปเชื่อมโยงและบูรณาการกับโครงงานดนตรีชีวิตและโครงงานประเพณีในชีวิต เพื่อร่วมกันสร้างสมรรถนะและคุณลักษณะตามเป้าหมายของหน่วยวิชาและหลักสูตรสถานศึกษา


หน่วยวิชาดนตรีชีวิต (โครงงาน)

การเชื่อมประสานศาสตร์ของเสียงและการเคลื่อนไหวทั้ง 5 ศาสตร์ คือ นาฏกรรม การบรรเลงดนตรี การขับร้อง-ขับขาน กวีนิพนธ์ และศิลปะการละคร  เพื่อนำผู้เรียนสู่สุนทรียสัมผัสของเสียง ภาษา และการใช้ร่างกาย ก่อเกิดความสุข ความสามารถในการสร้างสรรค์และการสื่อสารทางดนตรี นาฏกรรม กวีนิพนธ์ และการละคร ตลอดจนเกิดการพัฒนาชีวิตอย่างเป็นองค์รวมและการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง (Transformative Learning)

เนื่องจากหน่วยวิชาดนตรีชีวิตมีคาบเรียนในตารางเวลาเรียนเพียง 2 คาบต่อสัปดาห์ ซึ่งยังไม่เพียงพอในการพัฒนาชีวิตนักเรียนตามเป้าหมายของหน่วยวิชา ดังนั้นหน่วยวิชาดนตรีชีวิตจึงได้เวลาช่วงพิธีกรรมเช้าหน้าเสาธงทุกวัน ประมาณวันละ 10-15 นาที อีกทั้งยังมีการเรียนในลักษณะโครงงานดนตรีชีวิตซึ่งนำไปเชื่อมโยงและบูรณาการกับโครงงานแสนภาษาและโครงงานประเพณีในชีวิต เพื่อร่วมกันสร้างสมรรถนะและคุณลักษณะตามเป้าหมายของหน่วยวิชาและหลักสูตรสถานศึกษา


หน่วยวิชาประเพณีในชีวิต (โครงงาน)

เป็นโครงงานที่อยู่ในรูปแบบของประเพณีเพื่อการเปลี่ยนผ่านในช่วงเวลาสำคัญของชีวิตซึ่งจัดขึ้นภาคเรียนละ 1 ครั้ง เพื่อให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง (Transformative Learning) ทัศนะ คุณค่า และคุณลักษณะ ให้ไปสู่เป้าหมายของหลักสูตรสถานศึกษา

โครงงานนี้เป็นศูนย์รวมที่บูรณาการโครงงานแสนภาษา และโครงงานดนตรีชีวิตเข้าด้วยกันเพื่อร่วมกันสร้างสมรรถนะ และคุณลักษณะตามเป้าหมายของหลักสูตรสถานศึกษา

No posts


หน่วยวิชาการงานเพื่อชีวิต

คือการนำพาผู้เรียนค้นหาความชอบ ความสนใจ ความถนัดและวิถีการดำเนินชีวิต (Life Style) ของตนเอง และนำสิ่งเหล่านั้นมาบูรณาการลงในการงานจริงในชีวิตเพื่อพัฒนาสมรรถนะในการทำงานของตนเองด้วยตนเองอย่างมีความสุข  ในการทำงานดังกล่าวจะช่วยบ่มเพาะให้ผู้เรียนมีความเป็นเจ้าของการงานที่ตนทำ เกิดความเพียรในการทำงาน มีสติ มีสมาธิ มีใจจดจ่ออยู่กับงาน สามารถจัดการเวลาในการทำงาน ประเมิน เรียนรู้ ปรับปรุง และควบคุมคุณภาพของงาน ตลอดจนพยายามสร้างสรรค์ผลงานอย่างเต็มกำลังความสามารถ จนการงานนั้นซึมซับเข้าเป็นส่วนสำคัญของชีวิตผู้เรียน


หน่วยวิชาคุณค่าในวิถีชีวิต

คือหน่วยวิชาที่จะนำผู้เรียนไปสู่การตั้งเป้าหมายของการมีชีวิต การเลือกวิถีชีวิต และความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์อย่างเป็นองค์รวม ทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา เริ่มต้นจากการค้นพบโลกภายในของตนเอง เพื่อให้รู้เท่าทันอารมณ์ ความรู้สึก นึก คิดของตน มีใจที่เปิดกว้างในการรับฟังและเข้าอกเข้าใจผู้อื่น รวมทั้งเพื่อให้เห็นความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงกันระหว่างวิธีที่เรามองโลกและชีวิตที่เป็นจริง เห็นความเป็นไปของชีวิตในสถานการณ์ปัจจุบัน เห็นความสัมพันธ์ระหว่างตนเองกับผู้อื่น ครอบครัว ชุมชน สังคม โลก และสิ่งแวดล้อมทั้งหมด

กลุ่มวิชาพื้นฐาน

กลุ่มหน่วยวิชาพื้นฐานเป็นการเรียนรู้ที่พัฒนาต่อขึ้นมาจากกลุ่มหน่วยวิชาพัฒนาชีวิต กลุ่มหน่วยวิชาพื้นฐานนี้มุ่งเน้นไปที่การฟัง พูด อ่าน เขียน คิด และรู้สึก ผ่านภาษาและระบบสัญลักษณ์อย่างมีระเบียบแบบแผน หรือมีไวยากรณ์ที่ละเอียดซับซ้อน และค่อนข้างแน่นอน ภาษาและระบบสัญลักษณ์เป็นเครื่องมือหลักในการเรียนรู้ทั้งทางวิชาการและวิชาชีพ ทั้งในด้านศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ กลุ่มหน่วยวิชาพื้นฐานจึงเป็นพื้นฐานของการเรียนรู้อีกมากมายที่จะอาศัยต่อยอดต่อไป

กลุ่มหน่วยวิชาพื้นฐานประกอบด้วย หน่วยวิชาภูมิปัญญาภาษาไทย หน่วยวิชา ESL (English as a Second Language) หน่วยวิชาคณิตศาสตร์  และหน่วยวิชาจินตทัศน์

หน่วยวิชาภูมิปัญญาภาษาไทย

คือการเรียนรู้เพื่อวางรากฐานภาษาแม่ให้มั่นคงแข็งแรง และเปิดประตูนำผู้เรียนสู่ภูมิปัญญาของวัฒนธรรมไทย โดยมีภาษาไทยเป็นแกนหลักในการเรียนรู้ เป็นการพัฒนาทั้งทักษะภาษาและไหวพริบปฏิภาณ ให้ผู้เรียนเกิดความสามารถในการเชื่อมโยงโลกภายในของแต่ละบุคคลเข้ากับโลกภายนอก และโลกภายในของคนอื่น ๆ ทั้งในอดีต ปัจจุบัน อนาคต อีกทั้งยังเป็นการเรียนรู้มรดกทางวัฒนธรรมและศิลปวิทยาการต่าง ๆ ของไทย ช่วยให้ผู้เรียนสามารถใช้ภาษาแม่เป็นเครื่องมือพื้นฐานในการสร้างสรรค์ความรู้ ความสามารถใหม่ ๆ ต่อยอดต่อไปได้ด้วยตนเอง


หน่วยวิชา ESL (English as a Second Language)

คือการเรียนภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สองต่อจากภาษาแม่ อย่างมีความลึกซึ้งและมีประสิทธิผล เพื่อให้ผู้เรียนสามารถใช้ภาษาอังกฤษได้อย่างมีความสุข ผ่านการเรียนรู้ด้วยกิจกรรมที่เอื้อให้ผู้เรียนได้ฝึกทักษะการฟัง พูด อ่าน เขียน คิดวิเคราะห์ และการนำภาษาอังกฤษไปพัฒนาการเรียนรู้ในศาสตร์ต่าง ๆ ที่มีความสนใจ


หน่วยวิชาคณิตศาสตร์

คือเครื่องมือของการคิดและการแก้ปัญหาเชิงปริมาณที่ต้องการความแม่นยำ มีลักษณะเป็นภาษาสำหรับความคิดเชิงเหตุผลที่ใช้ระบบสัญลักษณ์ รูปทรง และตัวเลข ผ่านกระบวนการทางเหตุผลที่แจกแจงเป็นลำดับสืบเนื่อง เพื่อมุ่งหมายหาคำตอบที่แน่นอนให้ถึงที่สุด หรือคาดคะเน คาดเดาสิ่งที่ต้องการศึกษาให้แม่นยำที่สุดเท่าที่เหตุผลและระบบสัญลักษณ์จะสามารถให้ได้


หน่วยวิชาจินตทัศน์

คือการพัฒนาการคิดเชิงระบบที่เป็นภาพ และการนำเสนอความคิดเป็นภาพ หน่วยวิชานี้เป็นการผสมผสานการคิดเชิงระบบ ตรรกวิทยา และจินตนาการด้านมิติสัมพันธ์ในรูปลักษณ์ที่หลากหลาย สอดคล้องกับหลักการทำงานของสมอง โดยเริ่มจากการมุ่งกระตุ้นและพัฒนาหน่วยความคิดที่เล็กที่สุด คือหน่วยที่เป็นภาพในใจ(จินตภาพ) และหน่วยที่เป็นความเข้าใจ (มโนทัศน์) เพื่อพัฒนาความสามารถในการคิดให้ปรากฏออกมาเป็นภาพหรือแบบจำลองในรูปแบบต่าง ๆ ได้มากมาย

No posts

กลุ่มหน่วยวิชาประยุกต์

เป็นการเรียนรู้ที่ต้องอาศัยกลุ่มหน่วยวิชาพัฒนาชีวิต และกลุ่มหน่วยวิชาพื้นฐานเป็นรากฐานของการเรียนรู้ กลุ่มหน่วยวิชาประยุกต์เป็นการเรียนรู้เกี่ยวกับธรรมชาติ สังคมวัฒนธรรม และเทคโนโลยีที่สัมพันธ์อยู่กับชีวิตของผู้เรียน กลุ่มหน่วยวิชานี้ ประกอบด้วย หน่วยวิชามานุษกับโลก หน่วยวิชาธรรมชาติศึกษาและประยุกต์วิทยา หน่วยวิชามานุษและสังคมศึกษา และหน่วยวิชาโครงงานวิจัยประจำภาคเรียน

หน่วยวิชาธรรมชาติศึกษาและประยุกต์วิทยา

คือการเรียนรู้เรื่องวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ และเทคโนโลยี จากปรากฏการณ์เชิงประจักษ์ที่พบเห็นได้ เป็นการเรียนรู้ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ธรรมชาติที่เชื่อมโยงและบูรณาการกับโครงงานวิจัยประจำภาคเรียน เพื่อความเข้าใจในธรรมชาติของสรรพสิ่งและการใช้เทคโนโลยีเพื่อความยั่งยืน


หน่วยวิชามานุษและสังคมศึกษา

คือการนำเนื้อหาสาระของวิชาสังคมศึกษาที่หลากหลาย มาจัดกลุ่มภายใต้หลักคิดทางสังคมวิทยา-มานุษยวิทยา ภูมิศาสตร์ และประวัติศาสตร์ เพื่อเปิดโลกทัศน์สู่การเรียนรู้เรื่องของมนุษย์ สังคม วัฒนธรรม ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และอนาคตศาสตร์ จนเกิดจินตนาการและวิธีคิดที่นำสู่การปฏิบัติได้จริง ควบคู่ไปกับการสร้างทัศนคติและการปลูกฝังศีลธรรมที่ถูกต้อง ดีงาม ลงไปในวิถีชีวิตที่จะส่งผลต่อพฤติกรรมการอยู่ร่วมกันในสังคม อย่างสันติ สร้างสรรค์ และยั่งยืน เพื่อให้ผู้เรียนตระหนักว่าตัวเขาคือส่วนหนึ่งในประวัติศาสตร์ของสังคม ดังนั้นการกระทำของเขาในปัจจุบันจะส่งผลต่อห้วงเวลาต่อไป ทั้งในส่วนของผลที่จะเกิดขึ้นแก่ตนและสังคม

หน่วยวิชานี้เป็นการเรียนรู้ด้วยกระบวนการทางสังคมศาสตร์ มานุษยวิทยา และศิลปะศาสตร์ ที่เชื่อมโยงและบูรณาการกับโครงงานวิจัยประจำภาคเรียน เพื่อความเข้าใจในธรรมชาติของมนุษย์ สังคม วัฒนธรรม ที่ผูกพันอยู่กับภูมิศาสตร์ และห้วงเวลา เพื่อการสร้างสังคมและวัฒนธรรมที่มีสันติ สร้างสรรค์ และยั่งยืน


หน่วยวิชาโครงงานวิจัยประจำภาคเรียน

คือการสร้างความรู้อย่างเป็นกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ด้วยตนเองอย่างแท้จริง โดยการนำกระบวนการวิจัยมาขับเคลื่อนกระบวนการเรียนรู้ เป็นการสัมผัสกับประสบการณ์จริง ฝึกกระบวนการคิด ฝึกทักษะการจัดการ การเผชิญสถานการณ์ และการประยุกต์ความรู้มาใช้ในการแก้ปัญหา การสร้างสรรค์สิ่งใหม่ และการสร้างความรู้ใหม่ ด้วยวิธีการวิจัยที่มีความน่าเชื่อถือทางวิชาการ อันจะนำไปสู่คุณภาพของผู้เรียนและช่วยให้ผู้เรียนมีเครื่องมือในการเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับโลกในสถานการณ์ใหม่

โครงงานวิจัยประจำภาคเรียนยังเป็นศูนย์กลางของการบูรณาการหน่วยวิชาธรรมชาติศึกษาฯ และหน่วยวิชามานุษและสังคมศึกษาเพื่อร่วมกันนำผู้เรียนบรรลุเป้าหมายของหลักสูตรสถานศึกษา

แนวคิดการจัด 4 ภาคเรียน

นำหลักธรรมสร้างวิถีการเรียนรู้
การจัดแบ่งช่วงเวลาในแต่ละปีการศึกษา
โรงเรียนเพลินพัฒนาจัดเวลาให้นักเรียนได้มีการเรียนรู้ 40 สัปดาห์ใน 1 ปีการศึกษา 

ปีการศึกษาออกเป็น 4 ภาค ภาคละ 10 สัปดาห์ ซึ่งมีชื่อภาคและช่วงเวลาเปิด-ปิดภาคดังนี้

ภาคที่ 1 : ภาคฉันทะ

จะเปิดราวต้นสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนพฤษภาคม และปิดราวสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนกรกฎาคม

ประมาณ 12 พฤษภาคม – 18 กรกฎาคม

ภาคที่ 2 : ภาควิริยะ

จะเปิดราวสัปดาห์สุดท้ายของเดือนกรกฎาคม และปิดราวต้นเดือนตุลาคม

ประมาณ 24 กรกฎาคม – 3 ตุลาคม

ภาคที่ 3 : ภาคจิตตะ

จะเปิดราวสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนตุลาคม และปิดราวสัปดาห์สุดท้ายของเดือนธันวาคม

ประมาณ 20 ตุลาคม – 26 ธันวาคม

ภาคที่ 4 : ภาควิมังสา

จะเปิดราวสัปดาห์ที่ 1 หรือ 2 ของเดือนมกราคม และปิดราวกลางเดือนมีนาคม 

ประมาณ 5 มกราคม – 15 มีนาคม